การประยุกต์ใช้เมี่ยงหมักและน้ำเมี่ยงให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม
03/03/2566 , อ่าน 2153 ครั้ง

1. ชื่อผลงานวิจัย การประยุกต์ใช้เมี่ยงหมักและน้ำเมี่ยงให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และเภสัชกรรม
Application of Fermented Tea Leave and Fermented Tea Processing Water for Medicinal and Pharmaceutical Potential
2. คณะผู้วิจัย
1) อาจารย์ ดร.มธุรส ชัยหาญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระพล เสนพันธุ์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
3) อาจารย์ ดร. วชิระ ชุ่มมงคล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
4) นายเพิ่มศักดิ์ สุภาพรเหมินทร์ นักวิจัยอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร

3. ความสำคัญและที่มาของผลงานวิจัย
    จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายลดการใช้สารเคมีและยาปฎิชีวนะในผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ จึงได้มีการวิจัยและพัฒนาชีวภัณฑ์จากใบชาอัสสัมที่มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและสารต้านจุลชีพหลายๆชนิด(Antimicrobial activities) จากการศึกษาวิจัยชาอัสสัมทำให้ทราบว่าสารเคมีที่อยู่ในใบชามีมากกว่า 500 ชนิด โดยสารกลุ่มที่มีผลต่อการทำงานของร่างกายมนุษย์และมีผลต่อเรื่องสุขภาพของมนุษย์ ได้แก่ สารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ กรดอะมิโน วิตามิน คาเฟอีนและน้ำตาลหลายโมเลกุล (Polysaccharides) ชาพันธุ์อัสสัม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. assamica สามารถเรียกได้หลายชื่อ เช่น ชาอัสสัม ชาพื้นเมือง ชาป่า หรือ ชาเมี่ยง เป็นต้น ชาอัสสัมเป็นพันธุ์ชาที่ใบใหญ่กว่าชาพันธุ์จีนเป็นพันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดีในป่าเขตร้อนชื้นที่มีร่มไม้และแสงแดดพอประมาณ พบมากบนเขตพื้นที่สูงแถบภาคเหนือของไทยในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ลำปางและแพร่ ชาอัสสัมเจริญเติบโตเร็ว ทนแล้ง ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี พื้นที่ปลูกที่เหมาะสมตั้งแต่ 100 - 1,000 เมตร ชาอัสสัมมีคาเฟอีนมากกว่าชาจีน ใบชาอัสสัมมีสารประกอบ ฟลาโวนอยด์ประเภท flavonols คือ Quercetin, Kaempferol และ Myricetin ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ใบชาอัสสัมมีรสฝาดและขม นอกจากนั้นในใบชายังมีสารประกอบที่เรียกว่า “คาเทชิน (Catechins)” ซึ่งเป็นสารประกอบฟลาโวนอยด์กลุ่ม ฟลาโวนอล (Flavonols) ในใบชาอัสสัมจะมี Catechins อยู่ประมาณร้อยละ 20-30 ของน้ำหนักแห้ง (Balentine et al., 1997) Catechins ที่สำคัญที่มีอยู่ในใบชาอัสสัม คือ (-)-epigallocatechin gallate (EGCG), (-)–epigallo catechin (ECG), (-) epicatechin gallate (EG) และ (-)-epicatechin (EC) (สายลมและคณะ 2552) นอกจากนี้ ใบชาอัสสัมยังประกอบไปด้วยธาตุอาหารในกลุ่มที่ร่างกายต้องการในปริมาณที่ต่ำๆ หลายชนิด ได้แก่ ฟลูออรีน ทองแดง แมงกานีส นิเกิล อัลลัม โพแตสเซียม สังกะสี ซีลีเนียม แมกนีเซียม แคลเซียม โซเดียม เป็นต้น อีกทั้งยังพบว่าในใบชาอัสสัมมีปริมาณวิตามินซี สูง โดยพบว่าในชาเขียว 100 กรัม จะมีวิตามินซีสูงถึง 100 มิลลิกรัมชาอัสสัม จัดเป็นพืชที่มีปริมาณฟลูออรีนสูง (Fluorine bioconcentrating plant) โดยปริมาณฟลูออรีนในใบแก่ของชาอัสสัมมีมากถึงหลายร้อยส่วนในล้าน (Part Per Million: ppm) ด้วยเหตุนี้ได้มีการนำชามาศึกษาผลต่อการเกิดฟันผุ พบว่า การดื่มชาทำให้อัตราฟันผุลดลง กรดอะมิโนในชานั้นพบราว 25 ชนิด ในจำนวนนี้ ธีอานีน (theanine) จัดเป็นกรดอะมิโนที่พบมากที่สุดโดยพบมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณกรดอะมิโนรวมทั้งหมดและสารสำคัญที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพมากที่สุด คือ สารในกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งมีปริมาณที่แตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของชา โดยพบว่าในชาเขียวมีปริมาณสูงที่สุดและในบรรดาโพลีฟีนอลทั้งหมดนั้น คาเทชิน (Catechins) มีความสำคัญต่อการแสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากที่สุด โดยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เด่นที่สุด ได้แก่ ฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ตามธรรมชาติสารสำคัญที่มีอยู่ในใบชาอัสสัมจะเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) โดยสารที่มีบทบาทสำคัญด้านฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา คือ คาเทชิน (Catechins) นอกจากนี้ยังมีสารกลุ่ม แซนทีนอัลคาลอยด์ (Xanthine alkaloids) ได้แก่ คาเฟอีน (Caffeine) ธีโอฟิลลีน (Theophylline) เป็นต้น ซึ่งสารกลุ่มแซนทีนอัลคาลอยด์จะเป็นสารที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าโดยเฉพาะในชาเขียวมีปริมาณสารคาเทชินในปริมาณสูงและมีสารธีอาฟลาวิน (Theaflavins) และธีอารูบีจิน (Thearubigins) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเปลี่ยนรูปของคาเทชินโดยเอนไซม์ต่างๆในปริมาณที่ต่ำดังนั้น ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของชาแต่ละชนิดชนิดจึงต่างกันอย่างมากดังนั้น คณะผู้วิจัย จึงเล็งเห็นความสำคัญของชาอัสสัมโดยศึกษาฤทธิ์ต้านแบคทีเรียก่อโรคแผลเรื้อรังและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยเตรียมผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมเป็นตำรับผสมที่มีคุณสมบัติที่ครอบคลุมกับการลดแบคทีเรียสาเหตุแผลติดเชื้อ ผลิตภัณฑ์สำหรับทาภายนอกที่มีประโยชน์ต่อผิวหนังหรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมถึงการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของใบชาอัสสัมเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ชาอัสสัมได้ในอนาคต

4. ลักษณะเด่นของผลงานวิจัย
เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ชาอัสสัม โดยนำชาอัสสัมมาทำการสกัดพบสารสำคัญในชาอัสสัม คือ (-)-epicatechin (EC) (ภาพ 1)

Responsive image

ภาพ 1 โครงสร้างเคมี (-)-epicatechin (EC) ในชาอัสสัม (Camellia sinensis var. assamica)

    โดยหน้าที่หลักของ (-)-epicatechin (EC) ได้แก่ คุณสมบัติในการเป็นสารต้านออกซิเดชัน (antioxidant) โดยทำหน้าที่เป็นตัวขัดขวางหรือหยุดปฎิกิริยาต่อเนื่องของอนุมูลอิสระ (free radical chain terminator) ตัวจับออกซิเจน (oxygen scavenger) หรือเป็น chelating agent ของโลหะ รวมถึงสารต้านแบคทีเรีย (anti-bacterial agent) นำสารบริสุทธิ์ (-)-epicatechin (EC) ไปใช้เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ 2 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สปาและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม โดยมีรายละเอียด ดังนี้
(1) ผลิตภัณฑ์สปา ได้แก่
1.1 สบู่ชาเมี่ยง สำหรับบำรุงผิวหน้า ลดรอยด่างดำ ลดริ้วรอยและเพิ่มความกระจ่างใสให้แก่ผิวหน้า (มีเลขที่จดแจ้งและจำหน่ายออนไลน์ ในปี 2562)
1.2 แชมพูและครีมนวดผมชาเมี่ยง สำหรับกระตุ้นการสร้างเซลล์รากผมใหม่และลดผมหลุดร่วง
1.3 ลิปปาล์มชาเมี่ยง สำหรับบำรุงริมฝีปาก เพิ่มความชุ่มชื้นและลดรอยดำ (มีเลขที่จดแจ้งและจำหน่ายออนไลน์ ในปี 2562)
1.4 ครีมบำรุงผิวหน้าชาเมี่ยง สำหรับเพิ่มความกระจ่างใสและลบเลือนริ้วรอยแห่งวัย (Brightening & Anti-aging Facial Cream)

  Responsive image   Responsive image
สบู่ชาเมี่ยงผสมสมุนไพร  ลิปปาล์มชาเมี่ยง 
  Responsive image   Responsive image
ครีมบำรุงผิวหน้าชาเมี่ยง  สบู่ชาเมี่ยง

(2) ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ได้แก่
2.1 กาแฟชาเมี่ยงพร้อมดื่ม 3 in 1 เพิ่มสารต้านออกซิเดชันและจับโลหะหนัก ขับสารพิษออกจากร่างกายและบำรุงสุขภาพ
2.2 ชานมเมี่ยงพร้อมดื่ม 3 in 1 เพิ่มสารต้านออกซิเดชันและจับโลหะหนัก ขับสารพิษออกจากร่างกายและบำรุงสุขภาพ
    ผลิตภัณฑ์ชาเมี่ยงดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบสามารถต่อยอดและจำหน่ายให้กับผู้สนใจ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ผู้สนใจได้ 

Responsive image Responsive image
ชานมเมี่ยงสำเร็จรูปพร้อมดื่ม 3 in 1  กาแฟเมี่ยงสำเร็จรูปพร้อมดื่ม 3 in 1

5. การบูรณาการการวิจัย
งานวิจัยนี้ได้มีการบูรณาการวิจัยให้ครอบคลุมหลายแขนง เพื่อให้สามารถทำการผลิตสารบริสุทธิ์ (-)-epicatechin (EC) นำมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์อาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ รวมถึงการพัฒนาสูตรตำรับด้านผลิตภัณฑ์สปา เครื่องสำอาง เครื่องดื่มรวมถึงอาหารให้แก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจสามารถนำวิธีและกระบวนการดังกล่าวไปใช้กระบวนการผลิตของตนเองต่อไป
6. การนำไปใช้ประโยชน์
ด้านเศรษฐกิจ
    เมื่อนำสารสกัดชาอัสสัมหรือสารบริสุทธิ์ (-)-epicatechin (EC) มาเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์สปา เครื่องสำอาง เครื่องดื่มและอาหาร สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ชาอัสสัมซึ่งเป็นสินค้าทางการเกษตรและส่งผลทำให้มีกำลังซื้อขายทั้งในรูปของวัตถุดิบและอยู่ในรูปของสารสกัดเพิ่มมากยิ่งขึ้นและคาดว่าจะช่วยทำให้เศรษฐกิจด้านการเกษตรมีการกำลังการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
ด้านชุมชน
    งานวิจัยนี้มีการใช้วัตถุดิบที่มาจากเกษตรกร ซึ่งมาจากแหล่งชุมชนต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้สร้างและส่งเสริมความมั่นคงในด้านอาชีพทางด้านการเกษตรของเกษตรกรในชุมชนให้มีความมั่นคงด้านรายได้เพิ่มมากขึ้น
ด้านนโยบาย/สาธารณะ
    งานวิจัยนี้มีประโยชน์โดยมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกับยุทธศาสตร์ของแผนงานวิจัยในยุทธศาสตร์ด้านที่ 1 การวิจัยด้านเกษตรและอาหาร ได้แก่ (1) ด้านพืชเศรษฐกิจ มุ่งเน้น ลำไย กล้วยไม้ ข้าว สมุนไพร ยางพารา โดยมีแผนงานวิจัยตรงกับข้อที่ 9 การวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร
ด้านวิชาการ
    งานวิจัยนี้ได้มีการนำไปยื่นขอเสนออนุสิทธิบัตรต่อไป
7. หน่วยงานหรือองค์กรที่นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
    ผลงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์สำหรับหน่วยงานด้านทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีความสนในด้านการผลิตสารสกัดชาอัสสัมรวมถึงการนำสารสกัดชาอัสสัม หรือ สารบริสุทธิ์ (-)-epicatechin (EC) นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สปา ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหารรวมทั้งการผลิตครีมกันแดด
8. แหล่งติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
นักวิจัย : อาจารย์ ดร.มธุรส ชัยหาญ
หน่วยงานต้นสังกัด : คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ 50290
โทรศัพท์เคลื่อนที่ : 08 1288 8866
E-mail: bebee103@gmail.com