ความเป็นมาเกษตรทฤษฎีใหม่
ปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำรงชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 40 ปีแล้ว (2517) ตั้งแต่ก่อนวิกฤติทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ทางสายกลาง) แนวคิด : แนวทางการดำรงอยู่ การปฏิบัติตนในทุกระดับ ครอบครัว ชุมชน รัฐ - ในการพัฒนา บริหารประเทศ
หลักการ : พอประมาณ คือไม่มาก/น้อยเกินไป/ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น, มีเหตุผล คือพิจารณาเหตุที่เกี่ยวข้อง/ ผลกระทบ, มีภูมิคุ้มกัน คือเตรียมตัวพร้อมรับผลกระทบ/การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
เงื่อนไข : ความรอบรู้ คือความรู้ในตัวคน ในหลักวิชา รอบคอบ ระมัดระวัง และคุณธรรม คือซื่อสัตย์ สุจริต ขยัน อดทน มีความเพียร แบ่งปัน
เป้าประสงค์ : เชื่อมโยงวิถีชีวิต/เศรษฐกิจ/สังคม/สิ่งแวดล้อม/การเมือง, สร้างสมดุล/มั่นคง/เป็นธรรม/ยั่งยืน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
เกษตรทฤษฎีใหม่
เกษตรทฤษฎีใหม่ คือการจัดการทรัพยากรระดับไร่นา ที่ดิน แหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรแบบผสมผสานบนที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด คู่ขนานด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากให้สามารถผ่านวิกฤติ โดยเฉพาะการขาดแคลนน้ำได้อย่างไม่เดือดร้อนและยากลำบากนัก การดำเนินงานมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น
ขั้นที่ 1 ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น (พออยู่พอกิน พึ่งตนเองได้) การจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 ประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 ให้ขุดสระน้ำเก็บกักน้ำฝนสำรองไว้ใช้ปลูกพืชในฤดูแล้งตลอด จนเลี้ยงสัตว์น้ำ พืชน้ำต่าง ๆ 30%
ส่วนที่ 2 ใช้ปลูกข้าวในฤดูฝน ซึ่งเป็นอาหารหลักให้เพียงพอตลอดปี ลดค่าใช้จ่าย พึ่งพาตนเองได้ 30%
ส่วนที่ 3 ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร เพื่อเป็นอาหารประจำวัน หากเหลือนำไปแบ่งปันเพื่อนบ้านและจำหน่าย 30%
ส่วนที่ 4 ที่อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยง และโรงเรือน 10%
ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง
ขั้นที่ 2 ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง (พอมีอันจะกิน ชุมชนเข้มแข็ง) เมื่อเกษตรกรได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้วให้รวมพลังร่วมแรงร่วมใจในกลุ่มสหกรณ์ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. การผลิต : ร่วมมือกันตั้งแต่เตรียมดิน หาพันธุ์พืช ปุ๋ย แหล่งน้ำ และอื่น ๆ
2. การตลาด : เมื่อมีผลผลิตแล้ว ควรเตรียม การโดยรวมกัน ขายให้ได้ประโยชน์สูงสุด
3. ความเป็นอยู่ : เกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร มีปัจจัยพื้นฐาน การดำรงชีพที่พอเพียง
4. สวัสดิการ : ชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น สถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ มีกองทุนไว้กู้ยืม
5. การศึกษา : ชุมชนควรส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนแก่เยาวชน สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
6. สังคมและศาสนา : ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ การแบ่งปันปลูกฝังจริยธรรม
ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า
ขั้นที่ 3 ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า (ประสานแหล่งทุน ครอบครัวมั่นคง) เมื่อเกษตรกรได้ดำเนินการผ่านขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้นฐานะมั่นคงขึ้น ควรพัฒนาให้ก้าวหน้า คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุนแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทห้างร้านเอกชน มาทำธุรกิจลงทุนพัฒนาและได้ประโยชน์ร่วมกัน ดังนี้
1. เกษตรกรขายผลผลิตในราคาที่เป็นธรรมไม่ถูกกดราคา
2. บริษัท ธนาคาร ผู้ประกอบการ สามารถซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรงราคาจึงไม่สูงเกินไป
3. เกษตรกรสามารถซื้อเครื่องอุปโภค ปัจจัยการผลิต ในราคาขายส่งเพราะรวมกันซื้อ
4. ธนาคารหรือองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถกระจายบุคคลากรเข้าดำเนินการ กิจกรรมต่าง ๆ ได้เกิดผลดียิ่งขึ้น
กิจกรรมในแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประกอบด้วย 9 กิจกรรมได้แก่
1. กิจกรรมการปลูกพืชผัก
2. กิจกรรมการปลูกกล้วย
3. กิจกรรมการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น
4. กิจกรรมการปลูกข้าว
5. กิจกรรมการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ
6. กิจกรรมการเลี้ยงไก่พื้นเมือง
7. กิจกรรมการเลี้ยงสุกรแบบประยุกต์
8. กิจกรรมการเลี้ยงปลาในกระชัง
9. กิจกรรมการปลูกพืชสมุมไพร
ท่านสามารถติดต่อเข้าศึกษาดูงานได้ที่ : 053-873429 งานสนับสนุนโครงการตามพระราชดำริ 053-873400 สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร (ในวันและเวลาราชการ)
รับชมวีดีทัศน์ >> แนะนำแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
รับชมวีดีโอองค์ความรู้ :
การเพาะเมล็ดอะโวคาโด แบบลงดินและในน้ำ
การทำน้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง (สูตรเร่งด่วน)
น้ำหมักจุลินทรีย์ 3 สูตร (น้ำหมักหน่อกล้วย, น้ำหมักสมุนไพร, น้ำหมักผลไม้ 3 ชนิด)
เทคนิคการบังคับมัลเบอร์รี่ให้ออกดอกนอกฤดูกาล
มะละกอต้นเตี้ยและการขยายพันธุ์พืชตระกูลส้ม
ภูมิปัญญาการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวแบบล้านนา
สาธิตวิธีเปลี่ยนยอดมะม่วง โดยวิธีการเสียบยอด (แบบเสียบลิ่ม)
สาธิตวิธีการแกะเมล็ดมะม่วงเพื่อทำเป็นต้นตอ