การพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์จากดอกอัญชัน
08/03/2565 , อ่าน 1199 ครั้ง

1. ชื่อผลงานวิจัย การพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์จากดอกอัญชัน (Development of Potential Products from Clitoria ternatea Linn)

2. คณะผู้วิจัย รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิติพรรณ ฉิมสุข คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้

3. ความสำคัญและที่มาของผลงานวิจัย
    ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการดูแลสุขภาพตลอดจนถึงการเลือกซื้อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากสารสกัดจากพืชในธรรมชาติมากขึ้น และมีแนวโน้มการเติบโตด้านการตลาดในทิศทางบวกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้โดยทั่วไปการสกัดสารออกฤทธิ์จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น จากพืชสด พืชแห้ง นั้นส่วนใหญ่เป็นกระบวนการที่ใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ ซึ่งถ้าไม่สามารถแยกตัวทำละลายอินทรีย์จากสารสกัดได้หมด ก่อนนำสารสกัดไปใช้ประโยชน์ต่อในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดสารตกค้างที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้อุปโภค หรือบริโภค ในระยะยาวได้ โดยเหตุนี้จึงควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการผลิตสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติให้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญต่อการผลิตผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สำหรับกระบวนการต้นน้ำจะสัมพันธ์กับวัตถุดิบในที่นี้คือ พืชที่จะนำมาสกัด โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกพืช หรือเพาะพันธุ์เพื่อให้พืชชนิดนั้นสามารถสร้างสารทุติยภูมิได้ในปริมาณสูง โดยสารเหล่านี้จะมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญที่มีผลต่อการบำรุง รักษา กระตุ้นหรือเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ทั้งแบบอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การสกัดแยกสารออกฤทธิ์หรือสารประกอบที่มีความสำคัญในพืชชนิดนั้นเพื่อให้สามารถนำสารเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ทั้งนี้ถ้าสามารถสกัดโดยวิธีการที่ไม่ใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ สกัดจากพืชสด ด้วยกระบวนการสกัดที่สามารถสกัดสารทุติยภูมิและน้ำมันหอมระเหยในพืชให้ได้มากที่สุดจะทำให้ได้สารสกัดที่เข้มข้น และลดปัญหาเรื่องเชื้อราที่อาจปะปนในการอบแห้งพืช เหล่านี้จะทำให้สารสกัดที่ได้มีความปลอดภัยสูง ที่สำคัญคือลดปัญหาการกำจัดของเสียหรือตัวทำละลายอินทรีย์ที่ต้องแยกออกจากกระบวนการสกัดสาร ทำให้กระบวนการสกัดนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและได้สารสกัดที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัย สารสกัดชนิดนั้น ๆ จะสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบคุณภาพดีในการนำไปแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากที่สุด ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงนำหลักการการสกัดดังได้กล่าวมาข้างต้นคือ การสกัดโดยไม่ใช้ตัวทำละลาย จากพืชสด เพื่อรักษาคุณภาพของสารสกัดทุติยภูมิให้ได้มากที่สุด โดยพืชที่สนใจคือ ดอกอัญชันซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีสารสกัดสำคัญที่มีประโยชน์หลากหลายด้านคือ สารแอนโทไซยานิน (anthocyanins) นำสารสกัดที่ได้เข้าสู่การเตรียมผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพในรูปแบบอัดเม็ด และการนำไปเป็นวัตถุดิบในรูปเม็ดสีเพื่อพัฒนาตำรับเครื่องสำอาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์จากดอกอัญชันให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม

4. ลักษณะเด่นของผลงานวิจัย
    4.1 การเตรียมสารสกัดจากดอกอัญชัน เป็นวิธีการสกัดที่ถูกพัฒนาขึ้นได้เป็นนวัตกรรมการสกัดรูปแบบใหม่ ที่ใช้พืชสดในการสกัด ไม่ต้องตากแห้งหรืออบแห้ง เป็นการสกัดด้วยการใช้น้ำผึ้งเป็นน้ำกระสายยา และเป็นกระบวนการสกัดที่ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ไม่ใช้แอลกอฮอล์และตัวทำละลายอินทรีย์ใด ๆ ทั้งในขั้นตอนการสกัดและขึ้นรูปเม็ดผลิตภัณฑ์ (ใช้แป้งจากพืชในการขึ้นรูปเม็ดผลิตภัณฑ์)
    4.2 สารสกัดจากดอกอัญชันจากข้อ 1 นำมาวิเคราะห์ฤทธิ์ทางชีวภาพ และนำมาเตรียมตำรับต้นแบบเครื่องสำอางได้แก่ ครีมบำรุงผิวหน้าและเซรั่มบำรุงผิวหน้าที่มีสารสกัดจากดอกอัญชันเป็นองค์ประกอบ
    4.3 สารสกัดจากดอกอัญชันนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ประกอบด้วยดอกอัญชันและน้ำผึ้ง และทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง

5. การบูรณาการการวิจัย
    5.1 บูรณาการองค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัย เพื่อโอกาสในการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการแก่นักวิจัย นักศึกษา แทรกในบทเรียนวิชาด้านเคมี และเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
    5.2 บูรณาการผลงานวิจัย ร่วมกับแนะแนวทางโอกาสการส่งเสริมด้านการตลาด

6. การนำไปใช้ประโยชน์
ด้านเศรษฐกิจ

ผู้ใช้  การใช้ประโยชน์ 
เกษตรกร  เกษตรกรพัฒนาการปลูกดอกอัญชันอินทรีย์ อย่างมีคุณภาพ 
ผู้ประกอบการ  ผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น ๆ

ด้านชุมชน

ผู้ใช้  การใช้ประโยชน์ 
เกษตรกร  เกษตรกรพัฒนาการปลูกดอกอัญชันอินทรีย์ อย่างมีคุณภาพ 
ผู้ประกอบการ  ผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น ๆ

ด้านนโยบาย/สาธารณะ

ผู้ใช้   การใช้ประโยชน์ 
หน่วยงานภาครัฐ  1. แนวทางการส่งเสริม เกษตรกรพัฒนาการปลูกดอกอัญชันอินทรีย์ อย่างมีคุณภาพ
2. หน่วยงานด้านสาธารณสุข ร่วมพัฒนา แนะนำ ต่อยอด เผยแพร่ประโยชน์ของสารสกัดอัญชันอัดเม็ดในการดูแลสุขภาพร่างกายเบื้องต้น
ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ในผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่น ๆ

ด้านวิชาการ

ผู้ใช้  การใช้ประโยชน์ 
ผู้สนใจ นักศึกษา  ถ่ายทอดในการเรียนการสอน และบทความวิจัยหรือ เอกสารเผยแพร่ 

7. หน่วยงานหรือองค์กรที่นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
    7.1 ภาคการเกษตร
    7.2 หน่วยงานสาธารณสุข
    7.3 เอกชน ที่ประกอบกิจการและอุตสาหกรรมในด้านเครื่องสำอาง สารสกัด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผู้สนใจ

8. แหล่งติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
นักวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิติพรรณ ฉิมสุข
หน่วยงานต้นสังกัด สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50290
โทรศัพท์ 0 5387 3850
โทรสาร 0 5387 3490-1