เครื่องเติมอากาศใต้ผิวน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำหรับบำบัดน้ำเสียรอบคูเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (Submersible aerator for wastewater treatment due to the royal works)
โดย รศ.เสมอขวัญ ตันติกุล สังกัด คณะวิศวกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
เครื่องเติมอากาศใต้ผิวน้ำเพื่อการรักษาคุณภาพน้ำ ในแหล่งน้ำสาธารณะ ที่คูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณหน้าตลาดประตูเมืองเชียงใหม่ จำนวน 2 เครื่อง เปิด 3 รอบ รอบละ 2 ชม./วัน ตีอากาศให้เป็นฟองขนาดเล็กก่อนที่จะมีการกระจายอากาศ ออกไปใต้ผิวน้ำให้เป็นรัศมีกว้างในระดับความลึกที่ต้องการ
ส่วนประกอบเครื่องเติมอากาศใต้ผิวน้ำแบบสถิตใช้งานอยู่กับที่
1. ห้องเติมอากาศใช้ใบจักรเติมอากาศแบบ Multi-blade Fan ชนิด 12 ใบพัดจำนวน 3 อัน
2. กรวยบังคับทิศทางอากาศ ป้องกัน อากาศไหลขึ้นสู่ผิวน้ำ
3. ห้องลำเลียงน้ำและอากาศ ใช้ใบจักรเจ็ทสกี ชนิด 3 ใบพัด จำนวน 1 อัน ในรูปแบบ Multistage Turbines
4. ใบไดโว่ในห้องกระจายน้ำอากาศ จะกระจายส่วนผสมที่ระดับความลึก 80 ซม. โดยไม่ต้องพะวงว่าจะมีการรบกวนทำให้น้ำตอนล่างขุ่น สามารถเติมออกซิเจนใต้ผิวน้ำได้ 8.9 มิลลิกรัมต่อลิตร เฉลี่ยในพื้นที่ปิด 100 ลูกบาศก์เมตร ที่ระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแหล่งน้ำ
ปกติทั่วไปใต้ระดับผิวน้ำลงไปมีความดันและจะมากขึ้นตามระดับความลึกที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว การเติมอากาศใต้ผิวน้ำที่ทำกันอยู่ คือ การใช้เครื่องอัดอากาศส่งอากาศลงไปใต้น้ำไปยังความลึกที่ต้องการด้วยท่อ เมื่ออากาศที่มีแรงดันออกจากปลายท่อก็ย่อมจะเลาะตามท่อขึ้นสู่ระดับผิวน้ำซึ่งมีแรงดันน้อยกว่าโดยทันที ความมุ่งหมายของการออกแบบเครื่องมือ จึงกำหนดให้มีการตีอากาศให้เป็นฟองขนาดเล็กก่อนที่จะมีการกระจายอากาศให้เป็นรัศมีกว้างในระดับความลึกที่ต้องการ และแทนการใช้เครื่องอัดอากาศที่มีแรงดันมากกว่าแรงดันในระดับใต้ผิวน้ำนั้นอัดอากาศลงไป กำหนดให้ชุด Hydro-jet ทำหน้าที่นำพาอากาศลงไปแทน