การเลี้ยงปลากะพงขาวน้ำจืดในระบบน้ำหมุนเวียน (Recirculating Aquaculture System, RAS)
โดย รศ.ดร.นิวุฒิ หวังชัย และ รศ.ทิพสุคนธ์ พิมพ์พิมล คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ความสำคัญและที่มาของโครงการ
จากสถานการณ์ในปัจจุบันด้านความต้องการของตลาดและแนวโน้มของผู้บริโภคที่ต้องการสัตว์น้ำที่มีคุณภาพและปลอดภัยในการบริโภคมีสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่เมืองท่องเที่ยว จึงเป็นเหตุผลในการค้นหานวัตกรรมการผลิตปลากะพงขาวระบบเลี้ยงในน้ำจืดในเขตภาคเหนือตอนบน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ประมงเกรดพรีเมี่ยมที่ระดับปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนองความต้องการอาหารของเมืองท่องเที่ยว ตามนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมแนวทางการผลิตอุตสาหกรรมอาหารภายใต้โครงการ Northern Food Valley และสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่มีนโยบายในพันธะกิจที่มุ่งเน้นทางด้านการเกษตรเพื่อความมั่นคงด้านอาหารโดยเฉพาะอาหารอินทรีย์ (Organic Food) สัตว์น้ำที่เหมาะสมกับการเลี้ยงในน้ำจืดในเขตภาคเหนือและที่มีตลาดรองรับได้แก่ ปลากะพงขาว โดยมีการนำระบบน้ำหมุนเวียน (Recirculating Aquaculture System, RAS) มาใช้ในการเพาะเลี้ยง
ปลากะพงขาว แม้ว่าเป็นปลาน้ำกร่อยแต่เจริญเติบโตได้ดีในน้ำจืด และในปัจจุบันมีการเลี้ยงแพร่หลายในเขตจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย เนื่องจากเลี้ยงง่าย โตเร็ว เนื้อปลารสชาติดี และมีราคาสูงพอคุ้มค่ากับการลงทุน ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยสามารถเพาะพันธุ์ปลากะพงขาวได้เป็นจำนวนมาก สามารถผลิตลูกปลาได้เพียงพอกับความต้องการเพื่อพัฒนาอาชีพและการอนุรักษ์ในแหล่งน้ำ โดยได้นำลูกปลาไปทำการเลี้ยงในระดับชุมชนจนสามารถเลี้ยงเป็นอาชีพได้สำเร็จในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามการเลี้ยงปลากะพงขาวอินทรีย์เพื่อพัฒนาเป็นอาชีพได้ จำเป็นต้องพัฒนาระบบการเลี้ยง
การนำไปใช้ประโยชน์
1. สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน
2. มีศูนย์สาธิตการผลิตสัตว์น้ำอินทรีย์ต้นแบบ เพื่อชุมชนและตลาดสัตว์น้ำอินทรีย์
3. เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเทคนิคการเลี้ยงสัตว์น้ำ
4. มีความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจตลอดจนส่งเสริมโครงการ Northern Food Valley ของจังหวัดเชียงใหม่ และประเทศ