ไคโตซาน (Biochito-Powder) สารธรรมชาติสำหรับพืชและสัตว์
13/11/2567

การคัดแยกและคัดเลือกแบคทีเรียที่สามารถสกัดไคโตซานจากขยะเปลือกกุ้ง

     ในอุตสาหกรรมปัจจุบันการผลิตไคโตซานจากเปลือกกุ้งทำได้โดยการใช้สารเคมี และความร้อน นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหามลภาวะ สิ่งแวดล้อมในการกำจัดของเสียในอุตสาหกรรมอาหารทะเล และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นในรูปของโคตินหรือไคโตซาน แต่อย่างไรก็ตาม ในด้านคุณภาพและมาตรฐานในการผลิตทางเคมียังคงเป็นปัญหาในด้านการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากการใช้สารเคมีในการผลิตมีการใช้ทั้งกรดแก่ และด่างแก่ ในการสกัดจึงทำให้มีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ จึงนำเอาวิธีการทางชีวภาพมาใช้โดยการคัดแยกและคัดเลือกแบคทีเรีย ที่มีเอนไซม์ในการช่วยดึงหมู่อะซิทิลและมีบทบาท ในการย่อยสลายสายโพลีเมอร์ของไคตินเพื่อช่วยในการผลิตไคโตซาน (Chen et al., 2009) การศึกษาเพื่อคัดแยกและคัดเลือก แบคทีเรียที่สามารถใช้ในการสกัดโคโตซานจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถเพิ่มมูลค่าของขยะเปลือกกุ้ง และยังเป็นการนำเอาของเสียในอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์ เพื่อให้การผลิตไคโตซานด้วยวิธีทางชีวภาพและได้มีการพัฒนากันอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยจะทำการคัดแยกและคัดเลือกจุลินทรีย์ที่สามารถสกัดไคโตซานจากเปลือกกุ้งที่ได้จากร้านหมูกระทะ โรงงานผลิตปุ๋ยน้ำไคโตซานจากเปลือกกุ้งและน้ำหมักไคโตซานจากเปลือกกุ้ง แล้วทำการทดสอบปริมาณโคโตซานที่สูงที่สุดจากการสกัดด้วยจุลินทรีย์ พร้อมทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการใช้กระบวนการทางชีวภาพ (จุลินทรีย์ที่แยกได้) กับกระบวนการทางเคมี จากนั้นนำสายพันธุ์จุลินทรีย์ที่สามารถสกัดไคโตซานได้ สูงสุดส่งไปจำแนกสายพันธุ์ซึ่งผลการศึกษาที่ได้จะช่วยรักษาสภาพแวดล้อม และลดอันตรายต่อมนุษย์จากการลดใช้สารเคมีจำพวกค่าง ที่มีความเข้มข้นสูงได้

ผลงานวิจัยโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพร จันทร์ฉาย สังกัด มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ  โทรศัพท์ : 081 518 1577  อีเมล์ : nuttapornchanchay@gmail.com