ลักษณะทางพฤษศาสตร์
เป็นข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 138 วัน (ฤดูนาปี) และ 146 วัน (ฤดูนาปรัง) ลักษณะกอแบะ ความสูงประมาณ 105 เซนติเมตร (ฤดูนาปี) และ 99 เซนติเมตร (ฤดูนาปรัง) ลำต้นแข็งปานกลาง ใบสีเขียว มุมปลายใบตั้งตรง การแก่ของใบแก่ช้า ใบธงยาว 32.16 เซนติเมตร กว้าง 1.20 เซนติเมตร มุมใบธงตั้งตรง รวงยาว 29.75 เซนติเมตร ลักษณะรวง ค่อนข้างกระจาย คอรวงสั้น จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 113 เมล็ด เมล็ดร่วงง่าย ข้าวเปลือกสีฟาง มีหางบ้าง ยาว 10.70 มิลลิเมตร กว้าง 2.65 มิลลิเมตร หนา 2.03 มิลลิเมตร ข้าวกล้อง ยาว 7.42 มิลลิเมตร กว้าง 2.12 มิลลิเมตร หนา 1.80 มิลลิเมตร จัดเป็นข้าวเมล็ดยาว รูปร่างเรียว (อัตราส่วนระหว่างความยาวต่อความกว้าง = 3.51) คุณภาพการสีดี ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว 45.80 เปอร์เซ็นต์ ค่าการสลายตัวของเมล็ดในด่างที่ 1.4 % KOH เท่ากับ 5.13 อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ มีกลิ่นหอมอ่อน
ลักษณะเด่น
1. เป็นข้าวเหนียวมีกลิ่นหอมอ่อน เมล็ดเรียวยาว
2. ต้นเตี้ย และไม่ไวต่อช่วงแสงสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
แหล่งที่มา/ประวัติ
G2:G12ผสมพันธุ์ครั้งแรก ในฤดูนาปี 2547 ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยใช้ข้าวเจ้าหอมพันธุ์ปทุมธานี 1 ซึ่งใช้เป็นพันธุ์รับกับข้าวเหนียวหอมพันธุ์ กข6 ซึ่งใช้เป็นพันธุ์ให้ยีน wx ซึ่งควบคุมความเป็นข้าวเหนียว ด้วยวิธีผสมกลับ และใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือก ผลิตเมล็ดชั่วที่ 1 ทำการผสมกลับ 4 ชั่ว แต่ละชั่วของการผสมกลับใช้เครื่องหมายโมเลกุลช่วยคัดเลือกต้นที่เป็น Wxwx และผสมกลับไปหาพันธุ์รับ คือ ข้าวเจ้าหอมพันธุ์ปทุมธานี 1 จนได้ต้น BC4F1 ที่มียีโนไทป์เป็น Wxwx และผสมตัวเองได้เมล็ด BC4F2 คัดเลือกเมล็ดข้าวเหนียวนำไปปลูก และผสมตัวเองได้เมล็ด BC4F3 ปลูกศึกษาพันธุ์ 4 แถว จำนวน 2 ฤดู คือ นาปี 2551 และนาปรัง 2552 คัดเลือกได้สายพันธุ์ข้าวเหนียว MJUG04002-BC4F5-927
ฤดูนาปี 2552 และนาปี/นาปรัง 2553 ทดสอบผลผลิตเบื้องต้น ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 3 ฤดู
ในปี พ.ศ.2555 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมการข้าว จึงขอส่งข้าวเหนียวสายพันธุ์ MJUG04002-BC4F10-927 (ภาพที่ 1) เข้าร่วมปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีจำนวน 3 ฤดู รวมทั้งปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์จำนวน 2 ฤดู นอกจากนี้ได้วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ และเคมี และทดสอบปฏิกิริยาต่อโรค และแมลงศัตรูข้าว และทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน
ในฤดูนาปี 2555 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี รวมทั้งวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ และเคมี จำนวน 4 แห่ง ที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ เชียงใหม่ แปลงทดลองดงหลักหมื่น อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ส่วนการทดสอบปฏิกิริยาต่อโรค และแมลงศัตรูข้าว ที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ เชียงใหม่ แปลงทดลองดงหลักหมื่น อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย และศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน
ในฤดูนาปรัง 2556 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี จำนวน 3 แห่ง ที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ เชียงใหม่ และเชียงราย รวมทั้งวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ และเคมี จำนวน 2 แห่ง ที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ และเชียงใหม่
ในฤดูนาปี 2556 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี รวมทั้งทดสอบปฏิกิริยาต่อโรค และแมลงศัตรูข้าว จำนวน 5 แห่ง ที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ เชียงใหม่ แปลงทดลองดงหลักหมื่น อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย และแม่ฮ่องสอน นอกจากนี้วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ และเคมี จำนวน 4 แห่ง ที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ เชียงใหม่ แปลงทดลองดงหลักหมื่น อำเภอฝาง จ.เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย และในฤดูเดียวกันทำการปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ จำนวน 7 แห่ง ในพื้นที่ อำเภอเมือง จ.เชียงราย อำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ อำเภอสันทราย จ.เชียงใหม่ อำเภอสอง จ.แพร่ อำเภอท่าวังผา จ.น่าน อำเภอเมือง จ.ลำปาง และ อำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน และทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน ที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ และเชียงราย
ในฤดูนาปรัง 2557 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ จำนวน 6 แห่ง ในพื้นที่ อำเภอเมือง จ.เชียงราย อำเภอสันทราย จ.เชียงใหม่ อำเภอแม่ใจ จ.พะเยา อำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อำเภอพาน จ.เชียงราย และ อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย รวมทั้งส่งผลผลิตในพื้นที่ อำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ อำเภอพาน จ.เชียงราย และ อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย วิเคราะห์คุณภาพกายภาพ เคมี และคุณภาพการรับประทาน และปริมาณสารหอม (2-acetyl-1-pyrroline,2AP) ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี และ ส่งผลผลิตในพื้นที่ อำเภอแม่สาย จ.เชียงราย วิเคราะห์หาปริมาณสารหอม(2-acetyl-1-pyrroline,2AP) โดยวิธี Headspace gas chromatography (HS-GC) ที่ Rice Chemistry Research Laboratory and Center of Excellence for Innovation in Chemistry (PERCH-CIC) ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่