ชวนชม
09/08/2564

ชื่อพันธุ์

ชวนชม

ชื่อสามัญ

Desert rose

ชื่อวิทยาศาสตร์

Adenium obesum

ผู้รวบรวมพันธุ์

นายธนวัฒน์ รอดขาว

หน่วยงาน

ฝ่ายปรับปรุงและพัฒนาพันธุกรรมพืชและสัตว์ สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร
 

วงศ์ Apocynaceae

ลักษณะทางพฤษศาสตร์

ต้น  เป็นไม้เนื้ออ่อน  อวบน้ำ  ต้นและกิ่งเป็นลำกลม  
ผิวค่อนข้างเรียบสีเขียวอมเทา  เปลือกบาง  แตกกิ่งก้านไม่เป็นระเบียบ  ส่วนโคนของลำต้นพองออกมีขนาดรูปทรงใหญ่เล็กแตกต่างกันไปเรียกว่า " โขด " มีไว้สำหรับเก็บน้ำเพื่อรักษาสมดุลของต้น

โขด  ของชวนชมคือรากที่ใช้สะสมอาหาร เช่นเดียวกับ เผือก มัน หรือพืชที่มีหัวทั่วไป มีลักษณะบวมออกเป็นหัวขนาดใหญ่อยู่ใต้ดินหรือโผล่ขึ้นเหนือดินมีรูปทรงแตกต่างกันไป

ใบ  เป็นใบแบบเดี่ยว  ออกเวียนรอบกิ่งคล้ายกังหันหลายๆ ชั้น  และออกหนาแน่นตามปลายกิ่ง  ใบของชวนชมมีหลายลักษณะแตกต่างกันขึ้นกับสายพันธุ์  เช่น ใบรูปไข่  ใบรูปหอก  ปลายใบมีทั้งเว้า มน แหลมและใบตัด  ขอบใบเรียบ หยักหรือเป็นคลื่น  แผ่นใบหนาแข็งเขียวเข้มเป็นมันหรือบางพันธุ์มีขนนุ่มคล้ายกำมะหยี่ที่ใต้ท้องใบ  มีขนาดใหญ่และเล็กแตกต่างกันไป

ดอก  ชวนชมจะออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง  ช่อหนึ่งประมาณ 10-20 ดอก  มีทั้งแบบบานพร้อมกันทั้งช่อและทยอยบานครั้งละ 4-5 ดอก  บานได้นาน 10-20 วัน  ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 8-10 ซม.

เมล็ด  เมล็ดสีน้ำตาลอ่อนเล็กๆ คล้ายเมล็ดข้าวเปลือก  มีขนสีน้ำตาลอ่อนเป็นพู่ติดอยู่ที่ปลายแหลมทั้งสองข้าง  ขนที่ปลายทั้งสองนี้จะช่วยให้เมล็ดปลิวไปตามลมได้ไกล

แหล่งที่มา/ประวัติ

ถิ่นกำเนิดของชวนชมมีการค้นพบครั้งแรกโดยนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ P. Forskal ทางภาคตะวันออกของทวีปแอฟริกาแถบประเทศแทนซาเนียและเคนย่า ในปี พ.ศ. 2305
แต่ตอนนั้นเชื่อว่าเป็นเพียงลั่นทมพันธุ์ใหม่ ต่อมาปี พ.ศ. 2357 นายโจเซฟ ออกัสต์ ซูลตส์ (Josef August Schultes)

นักพฤกษศาสตร์ชาวออสเตรีย ได้อธิบายความแตกต่างระหว่างชวนชมกับลั่นทมจนเป็นที่ยอมรับ ส่วนในประเทศไทย มีการพบชวนชมตั้งแต่ประมาณสมัยรัชกาลที่ 6 แต่ก็ไม่ทราบว่ามีการนำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อไร