เภสัชภัณฑ์จากน้ำมันหอมระเหยในการกำจัดเหาและไรในไก่พื้นเมือง
12/04/2566

เภสัชภัณฑ์จากน้ำมันหอมระเหยในการกำจัดเหาและไรในไก่พื้นเมือง
Development of pharmaceutical product from essential oils to eliminate lice and mite in indigenous chicken

    การพบพยาธิภายนอกทั้งเหาและไรสามารถพบได้เสมอในการเลี้ยงไก่โดยเฉพาะไก่พื้นเมืองที่มีการเลี้ยงปล่อยหากินตามธรรมชาติ ชนิดของพยาธิภายนอกที่พบได้บ่อยในประเทศไทยเช่น เหากัดชนิด Menopon gallinae, Menacanthus pallidulus และ Lipeurus caponis ไร Ornithonyssus bursa โดยพยาธิภายนอกจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของไก่โดยเฉพาะในไก่เล็กจะส่งผลให้ชะงักการเจริญเติบโต และอาจเสียชีวิตได้ ส่วนไก่โตจะทำให้เกิดความรำคาญ ยิ่งหากมีปริมาณมากอาจจะทำให้ไก่กินอาหารลดลง และส่งผลต่อสุขภาพได้ นอกจากนี้ไรบางชนิดที่พบในไก่จะมีการดูดกินเลือดซึ่งจะทำให้เกิดเลือดจาง ปัญหาการพบพยาธิภายนอกยังสร้างความรำคาญให้แก่ผู้เลี้ยงอีกด้วย ซึ่งบ่อยครั้งเหาและไรไก่ยังสามารถติดต่อมาสู่คนและทำให้เกิดอาการคันและบางรายเกิดแผลหรือเกิดอาการแพ้จากการที่เหาและไรกัด โดยปกติการรักษาเหาและไรจะใช้ยากำจัดพยาธิภายนอกได้แก่กลุ่ม malathion, cabaryl, coumaphos, rabon หรือ permethrin ซึ่งสารเหล่านี้เป็นกลุ่มของยาฆ่าแมลงซึ่งบางตัวสามารถตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้นาน นอกจากนี้ในฟาร์มที่เลี้ยงปศุสัตว์ปลอดภัยหรือปศุสัตว์อินทรีย์การใช้สารฆ่าแมลงเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดอยู่ น้ำมันหอมระเหยเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ได้มีการศึกษาฤทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการกำจัดพยาธิภายนอกในสัตว์ปีก เช่น การใช้น้ำมัน camphor ที่สกัดมาจาก Cinnamomum camphora ต่อการกำจัดเหา Columbicola columbae ในนกพิราบ สารสกัดน้ำมันหอมระเหยจาก cade, Manuka และ thyme ในการฆ่าไรแดงในไก่ ในประเทศไทยมีพืชหลายชนิดที่สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยและมีรายงานประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงได้ เช่น น้ำมันหอมระเหยจากใบยูคาลิปตัส ตะไคร้ ในการไล่ยุง, น้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบ มะกรูด มะนาว ส้มจีนในการไล่เหามนุษย์, น้ำมันหอมระเหยจากไพล ขมิ้นขัน และว่านนางคำ ในการกำจัดเห็บสุนัข, น้ำมันหอมระเหยจากพืช 10 ชนิดในการกำจัดไรแดงในไก่ ซึ่งการพัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติเหล่านี้มาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในการผลิตปศุสัตว์เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีกลุ่มยาฆ่าแมลงจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมากทั้งต่อผู้บริโภคและปลอดภัยสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากพืชสมุนไพรพื้นบ้านได้อีกด้วย

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหย 6 ชนิด ได้แก่ น้ำมันตะไคร้หอม น้ำมันมะกรูด น้ำมันขิง น้ำมันอบเชย น้ำมันตะไคร้ต้น และน้ำมันกานพลูต่อเปอร์เซ็นต์การตายของเหาและไรจากไก่ในห้องปฏิบัติการ
2. เพื่อศึกษาสูตรผสมน้ำมันหอมระเหยที่เหมาะสม มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการฆ่าเหาและไรในไก่ โดยเปรียบเทียบกับสารกำจัดแมลงทางการค้า
3. เพื่อผลิตเภสัชภัณฑ์จากน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการกำจัดเหาและไรในการเลี้ยงไก่ในระบบอินทรีย์

ผลการวิจัย
    องค์ประกอบหลักทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้ต้นประกอบด้วย citronella และ geraniol กานพลูประกอบด้วย eugenol ตะไคร้หอมประกอบด้วย citral, neral และ limonene ขิงประกอบด้วย α-Zingiberene, β-Sesquiphellandrene และ ar-Curcumene มะกรูดประกอบด้วย ß-pinene, Limonene และ Citronellal และ อบเชยประกอบด้วย Cinnamaldehyde และ Eugenol ส่วนประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยในการฆ่าเหาและไรในห้องปฏิบัติการพบว่า น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม ขิง และอบเชยมีประสิทธิภาพในการฆ่าเหาและไรในห้องปฏิบัติการโดยใช้ความเข้มข้นต่ำที่สุด แต่จากการทดลองสเปรย์ในสัตว์เบื้องต้นพบว่าน้ำมันหอมระเหยจากอบเชยมีความระคายเคืองกับผิวหนังของไก่ จึงเลือกตะไคร้หอมและขิงที่ความเข้มข้น 2 % มาผสมกันในอัตราส่วน 30:70, 50:50 และ 70:30 ซึ่งผลการทดสอบประสิทธิภาพของสูตรผสมในห้องปฏิบัติการพบว่าทุกสูตรทำให้เหาและไรตาย 100 % ที่ 24 ชั่วโมง เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยจากขิงมีต้นทุนสกัดที่สูงกว่าตะไคร้หอม จึงคัดเลือกอัตราส่วนตะไคร้หอม:ขิง ที่ 70:30 และ 50:50 มาใช้ ซึ่งผลการศึกษาประสิทธิภาพในการกำจัดเหาในตัวไก่พบว่าน้ำมันหอมระเหยทั้งสองสูตรสามารถลดจำนวนเหาไก่ได้ถึงอย่างน้อย 14 วัน แต่ลดจำนวนไรไก่ได้เพียง 7 วัน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมพบว่าประสิทธิภาพในการกำจัดเหาและไรดีกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะเมื่อสัดส่วนของน้ำมันขิงมากขึ้นก็จะมีประสิทธิภาพดีขึ้น

ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง (output): ต้นแบบน้ำมันหอมระเหยในการกำจัดเหาและไรในไก่
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง (outcome): ต้นแบบน้ำมันหอมระเหยที่สามารถนำไปใช้ในการกำจัดเหาและไรในไก่เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีได้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง (impact): สามารถนำไปใช้ในฟาร์มไก่พื้นเมืองและเกษตรกรที่เลี้ยงไก่พื้นเมืองเพื่อลดการใช้สารเคมีในการป้องกันพยาธิภายนอกได้จำนวน 3 แห่ง

ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ : ผศ.สพ.ญ.ดร.กฤดา ชูเกียรติศิริ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ : 081-5314211 Email : kridda003@hotmail.com