เภสัชภัณฑ์จากน้ำมันหอมระเหยในการกำจัดเห็บโค
12/04/2566

    เห็บในโคเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในการเลี้ยงโคในเขตร้อน โดยเห็บในโคที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญคือ Rhipicephalus microplus ซึ่งนอกจากจะพบหลักๆในโคแล้ว ยังสามารถพบในสัตว์กีบชนิดอื่นด้วย เช่น แพะ แกะ กวาง และกระบือ ปัญหาจากการที่เห็บดูดกินเลือด โดยเฉพาะหากมีปริมาณมากๆและเป็นลูกสัตว์อาจทำให้โลหิตจางถึงตายได้ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อประสิทธิภาพการเจริญเติบโตและการให้นมด้วย ทั้งยังเป็นพาหะนำโรคพยาธิเม็ดเลือดหลายชนิดได้แก่ Babesia, Anaplasma และ Theileriosis รูปแบบการเลี้ยงโคทั้งโคเนื้อและโคนมในประเทศไทยที่มักปล่อยหากินตามธรรมชาติ ปล่อยแปลงหญ้า หรือเกี่ยวหญ้ามาให้กินทำให้มักพบการระบาดของเห็บได้อยู่เสมอ เนื่องจากเห็บจะมีวงจรชีวิตทั้งช่วงที่อาศัยกินเลือดบนตัว และอยู่ในทุ่งหญ้า ทำให้การกำจัดและควบคุมเห็บโคค่อนข้างยาก โดยต้องกำจัดทั้งบนตัวและในสิ่งแวดล้อม โดยยาที่นิยมใช้มีทั้งยาฉีดและยาใช้ภายนอกที่อาจจะตกค้างในผลิตภัณฑ์และสิ่งแวดล้อมได้ เช่นยากลุ่ม ivermectin ที่นิยมใช้ฉีด จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและออกฤทธิ์ทำลายพยาธิภายนอกโดยจับกับสาร GABA ซึ่งหากใช้ในปริมาณมากก็อาจจะเป็นอันตรายต่อสัตว์ นอกจากนี้เห็บยังสามารถพัฒนาการดื้อต่อยากลุ่มนี้ได้ ทำให้ต้องใช้ในปริมาณที่สูงขึ้น ส่วนยากลุ่มที่ใช้ภายนอกเช่น Amitraz หรือสารฆ่าแมลงอื่นๆก็เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้หากไม่ระมัดระวัง ในการผลิตปศุสัตว์อินทรีย์ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรให้ความสนใจและหันมาผลิตปศุสัตว์รูปแบบนี้กันมาก เนื่องจากผู้บริโภคมีการคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น และผลผลิตที่ได้จากปศุสัตว์อินทรีย์ก็มีราคาที่สูง แต่การใช้ยาหรือสารเคมียังมีข้อจำกัดสำหรับการผลิตรูปแบบนี้ การศึกษาสารสกัดจากธรรมชาติจึงเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งที่ผู้เลี้ยงสัตว์ในระบบอินทรีย์ให้ความสนใจ มีรายงานวิจัยมากมายเกี่ยวกับสารสกัดจากธรรมชาติในการกำจัดเห็บในโคในห้องปฏิบัติการ แต่รูปแบบเภสัชภัณฑ์พร้อมใช้จากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่มีการผลิตออกมาจำหน่ายอย่างจริงจัง ในการศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเภสัชภัณฑ์กำจัดเห็บโคพร้อมใช้ออกมาจำหน่ายให้เกษตรกรในราคาย่อมเยาว์เพื่อลดขั้นตอนในการสกัดสารที่ค่อนข้างยุ่งยากและความไม่นิ่งของสารออกฤทธิ์ที่สำคัญในสมุนไพร

วัตถุประสงค์
1. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเข้มข้นของสมุนไพร 6 ชนิดได้แก่ น้ำมันขิง น้ำมันตะไคร้บ้าน น้ำมันผิวส้ม น้ำมันขมิ้นชัน น้ำมันตะไคร้ต้น และน้ำมันกานพลู ต่อเปอร์เซ็นต์การตายของเห็บโคในห้องปฏิบัติการ
2. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพ ความเข้มข้นและความปลอดภัยของน้ำมันหอมระเหยที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเห็บโคได้ดีที่สุด 3 ชนิด จากห้องปฏิบัติการ ในโคที่เลี้ยงปล่อยแปลงหญ้า โดยเปรียบเทียบกับสารกำจัดแมลงทางการค้า
3. เพื่อผลิตเภสัชภัณฑ์จากน้ำมันหอมระเหยเพื่อนำไปใช้ในการควบคุมและกำจัดเห็บโคในการเลี้ยงระบบอินทรีย์

ผลการวิจัย
    ประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยทั้ง 6 ชนิด ในความเข้มข้นที่แตกต่างกันต่อเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการออกไข่ของเห็บโค พบว่า ประสิทธิภาพของน้ำมันหอมระเหยตะไคร้บ้าน 8% มีประสิทธิภาพเริ่มต้นความเข้มข้นดีที่สุดในการยับยั้งการวางไข่ของเห็บตัวเมียระยะ engorged tick รองลงมาได้แก่ น้ำมันขิง น้ำมันขมิ้นชัน น้ำมันผิวส้ม น้ำมันตะไคร้ต้น และน้ำมันการพลู ตามลำดับ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ซึ่งที่ความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหยที่ 16% มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด โดยความเข้มข้นของสมุนไพรที่มากขึ้นจะมีผลทำให้ดัชนีการออกไข่ลดลง ที่ความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหย 16% พบว่า น้ำมันหอมระเหยขิง ตะไคร้บ้าน ตะไคร้ต้น และขมิ้นชัน มีค่า IE เท่ากับ 0 เช่นเดียวกับน้ำมันหอมระเหยตะไคร้บ้านที่ความเข้มข้น 8% ในความเข้มข้นเดียวกันพบว่าน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดมีค่า IE ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) แต่ที่ความเข้มข้น 4%พบว่าแนวโน้มของน้ำมันหอมระเหยขิงและตะไคร้บ้านมีค่า IE ต่ำกว่าชนิดอื่นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ความเข้มข้นของสมุนไพรที่มากขึ้นจะมีผลทำให้การยับยั้งการออกไข่เพิ่มสูงขึ้น ที่ความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหย 16% พบว่าน้ำมันหอมระเหยขิง ตะไคร้บ้าน ตะไคร้ต้น และขมิ้นชัน มีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการออกไข่ เท่ากับ 100% เช่นเดียวกับน้ำมันหอมระเหยตะไคร้บ้านที่ความเข้มข้น 8% ในความเข้มข้นเดียวกันพบว่าน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการออกไข่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p >0.05) แต่ที่ความเข้มข้น 4% พบว่าแนวโน้มของน้ำมันหอมระเหยขิงและตะไคร้บ้านมีเปอร์เซ็นต์การยับยั้งการออกไข่สูงกว่าชนิดอื่นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p >0.05) ส่วนการฆ่าเห็บโคในระยะตัวอ่อน พบว่า ความเข้มข้นของสมุนไพรที่มากขึ้นจะมีผลทำให้อัตราการตายของเห็บในระยะตัวอ่อนสูงขึ้น โดยที่ความเข้มข้นของน้ำมันหอมระเหย 4, 8 และ 16% ทำให้เห็บตายถึง 100% โดยความเข้มข้นต่ำสุดของน้ำมันหอมระเหยที่ทำให้เห็บระยะตัวอ่อนตาย 100% ของน้ำมันหอมระเหยผิวส้ม ขิง ตะไคร้บ้าน ตะไคร้ต้น กานพลู และขมิ้นชัน เท่ากับ 4, 2, 1, 4, 4 และ 4% ตามลำดับ และการประเมินดัชนีการวางไข่ (IE) เปอร์เซ็นต์การยับยั้งการออกไข่ และ %การตายของตัวอ่อน (Larva) พบว่าน้ำมันหอมระเหยตะไคร้บ้านและขิงที่ 8% มีประสิทธิภาพค่อนข้างดีจึงนำไปเลือกใช้ทดลองในตัวโค ผลการศึกษาพบว่าทั้งน้ำมันหอมระเหยตะไคร้และขิงสามารถลดจำนวนเห็บบนตัวโคได้ตั้งแต่วันที่ 1 หลังพ่น และลดจำนวนได้นานอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ให้ Amitraz พบว่ามีค่าใกล้เคียงกันในวันที่ 7 และ 14 หลังสเปรย์สาร

ผลผลิตที่เกิดขึ้นจริง (output): เภสัชภัณฑ์พร้อมใช้จากสารสกัดสมุนไพร 1 ต้นแบบ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง (outcome): ได้เภสัชภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเห็บโค และสามารถใช้ในการผลิตสัตว์ในระบบอินทรีย์ได้ซึ่งปราศจากสารเคมี
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริง (impact): นำผลงานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ และจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงโคเนื้อและโคนม

ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ : อภิชาติ หมั่นวิชา คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ : 081-0258036 Email : apichart-m@hotmail.com