การสร้างมูลค่าเพิ่มจากดอกอัญชัน
03/03/2566 , อ่าน 4049 ครั้ง

1. ชื่อผลงานวิจัย การสร้างมูลค่าเพิ่มจากดอกอัญชัน (Creating Value Added from Clitoria ternatea Linn.)

2. คณะผู้วิจัย
1) รองศาสตราจารย์ ดร.ฐิติพรรณ ฉิมสุข มหาวิทยาลัยแม่โจ้
2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์เยาวนาถ นรินทร์สรศักดิ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
3) อาจารย์ภาสินีส์ เหลืองวิเศษกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

3. ความสำคัญและที่มาของผลงานวิจัย
    ปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจมากขึ้นในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อการดูแลสุขภาพตลอดจนถึงการเลือกซื้อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากสารสกัดจากพืชในธรรมชาติมากขึ้น และมีแนวโน้มการเติบโตด้านการตลาดในทิศทางบวกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้โดยทั่วไปการสกัดสารออกฤทธิ์จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ เช่น จากพืชสด พืชแห้ง นั้นส่วนใหญ่เป็นกระบวนการที่ใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ ซึ่งถ้าไม่สามารถแยกตัวทำละลายอินทรีย์จากสารสกัดได้หมด ก่อนนำสารสกัดไปใช้ประโยชน์ต่อในด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดสารตกค้างที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้อุปโภค หรือบริโภค ในระยะยาวได้ โดยเหตุนี้จึงควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการผลิตสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติให้มากขึ้น โดยให้ความสำคัญต่อการผลิตผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ สำหรับกระบวนการต้นน้ำจะสัมพันธ์กับวัตถุดิบในที่นี้คือ พืชที่จะนำมาสกัด โดยให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกพืช หรือเพาะพันธุ์เพื่อให้พืชชนิดนั้นสามารถสร้างสารทุติยภูมิได้ในปริมาณสูง โดยสารเหล่านี้จะมีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญที่มีผลต่อการบำรุง รักษา กระตุ้นหรือเสริมสุขภาพ เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ทั้งแบบอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การสกัดแยกสารออกฤทธิ์หรือสารประกอบที่มีความสำคัญในพืชชนิดนั้นเพื่อให้สามารถนำสารเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ทั้งนี้ถ้าสามารถสกัดโดยวิธีการที่ไม่ใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ สกัดจากพืชสด ด้วยกระบวนการสกัดที่สามารถสกัดสารทุติยภูมิและน้ำมันหอมระเหยในพืชให้ได้มากที่สุดจะทำให้ได้สารสกัดที่เข้มข้น และลดปัญหาเรื่องเชื้อราที่อาจปะปนในการอบแห้งพืช เหล่านี้จะทำให้สารสกัดที่ได้มีความปลอดภัยสูง ที่สำคัญคือลดปัญหาการกำจัดของเสียหรือตัวทำละลายอินทรีย์ที่ต้องแยกออกจากกระบวนการสกัดสาร ทำให้กระบวนการสกัดนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและได้สารสกัดที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัย สารสกัดชนิดนั้น ๆ จะสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบคุณภาพดีในการนำไปแปรรูปในรูปแบบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพมากที่สุด ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงนำหลักการการสกัดดังได้กล่าวมาข้างต้นคือ การสกัดโดยไม่ใช้ตัวทำละลาย จากพืชสด เพื่อรักษาคุณภาพของสารสกัดทุติยภูมิให้ได้มากที่สุด โดยพืชที่สนใจคือ ดอกอัญชันซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีสารสกัดสำคัญที่มีประโยชน์หลากหลายด้านคือ สารแอนโทไซยานิน (anthocyanins) นำสารสกัดที่ได้เข้าสู่การเตรียมผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพในรูปแบบอัดเม็ด และการนำไปเป็นวัตถุดิบในรูปเม็ดสีเพื่อพัฒนาตำรับเครื่องสำอาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์จากดอกอัญชันให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม
    ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสมุนไพรเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท สารสกัดจากสมุนไพรกว่า 270 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสมอีกกว่า 71,000 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2560 กระทรวงพาณิชย์ได้รับนโยบายเร่งด่วนจากรัฐบาลให้ทำแผนผลักดันการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ที่ต้องการสนับสนุนให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน และพัฒนาสินค้าส่งออกรายการใหม่ ๆ สู่ตลาดโลก เพราะเล็งเห็นว่าสมุนไพรกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการบำรุงสุขภาพด้วยวิถีธรรมชาติมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี จึงเป็นโอกาสการส่งออกสมุนไพรไทยได้เพิ่มขึ้น ทั้งสมุนไพรสดและผลิตภัณฑ์ ทำให้กระทรวงพาณิชย์กำลังทำแผนผลักดันการส่งออกสมุนไพรไทย เพราะไม่เพียงแต่เพิ่มมูลค่าการส่งออก ยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และอาจเป็นรายได้หลักในอนาคต หลังจากตลาดต้องการมากขึ้น
    จากการสำรวจตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ในตลาดเอเชีย และตลาดซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) พบว่าทำการตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องได้ง่ายกว่าตลาดทางยุโรป เพราะมีความสะดวกในการขนส่ง ด้วยระยะทางใกล้กว่าตลาดทางยุโรป แต่อย่างไรก็ตามสำหรับตลาดยุโรป ถ้าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับข้อบังคับและกฎระเบียบของยุโรปก็ยิ่งมีโอกาสเพิ่มช่องทางการตลาดไปในกลุ่มยุโรปได้มากขึ้น
    โดยล่าสุดฮ่องกงให้ความสำคัญกับสมุนไพรไทย เช่น ดอกอัญชัน เพราะมีสรรพคุณช่วยบำรุงเส้นผม ทำให้นอนหลับสบาย ขณะนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นด้วยเครื่องดื่มเรียกว่า blue magic water และได้รับการยอมรับจากนักโภชนาการว่าเป็นสมุนไพรช่วยการหมุนเวียนเลือด บำรุงสายตา ลดความอ้วน ลดการสะสมของไขมัน เพราะมีสารแอนโทไซยานินสูงกว่าพืชอื่น ๆ
    จากข้อมูลข้างต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์สารสกัดแอนโทไซยานินจากดอกอัญชัน มีโอกาสเพิ่มมูลค่าและพัฒนาเป็นสินค้าสมุนไพรได้อย่างแน่นอน ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดแอนโทไซยานินจากดอกอัญชันในรูปแบบอัดเม็ด มีความแตกต่างกับผลิตภัณฑ์จากดอกอัญชันทั่วไป คือ ผลิตด้วยวัตถุดิบอินทรีย์ กระบวนการผลิตที่ใช้นวัตกรรม ลดปัญหาเรื่องเชื้อรา เสริมประสิทธิภาพการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วสำหรับร่างกายเพราะมีน้ำผึ้งเป็นสารนำพาเข้าสู่เซลล์ในสิ่งมีชีวิต ขณะที่ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากดอกอัญชันทั่วไป จะที่ผลิตในรูปเครื่องดื่ม เย็น หรือชาสมุนไพรดอกอัญชันแห้ง ที่ส่วนใหญ่จะผลิตจากดอกอัญชันตากแห้งที่เสี่ยงต่อเชื้อรา ดังนั้นความแตกต่างของกระบวนการผลิต สารสกัดที่นำมาเตรียมรูปแบบอัดเม็ดหรือนำไปเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางน่าจะเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ที่เตรียมได้อย่างเป็นรูปธรรม
    นอกจากการมีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแล้ว ปัจจุบันการออกแบบบรรจุภัณฑ์ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เสมือนตัวแทนพนักงานขาย และมีความสำคัญมากขึ้นในฐานะตัวแทนเพื่อนำเสนอสินค้า ด้วยรูปแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ที่เด่นสะดุดตา รูปแบบกราฟิกที่สวยงาม และการนำเสนอข้อมูลบนบรรจุภัณฑ์ช่วยให้ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคได้อย่างน่าประทับใจ กระบวนการในการออกแบบและพัฒนากรรมวิธีในการผลิตบรรจุภัณฑ์ มีสาระครอบคลุมทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ ทักษะความชำนาญ ผสมผสานไปกับศิลปะและการออกแบบ ทำให้บรรจุภัณฑ์เป็นศาสตร์หนึ่งที่สำคัญต่อวงการธุรกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก อีกทั้งบรรจุภัณฑ์ได้เพิ่มความสำคัญมากขึ้นทวีคูณ เนื่องจากการแข่งขันด้านการตลาดที่เข้มข้น เพราะผู้บริโภคมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย และที่สำคัญบรรจุภัณฑ์ได้เข้ามามีบทบาท ในการบ่งบอกระดับสินค้าทางการตลาดและแสดงออกถึงภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์รวมไปถึงผู้ผลิตด้วย แนวความคิดในการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต้องคำนึงถึงการใช้งานตั้งแต่ผู้ผลิตจนถึงมือผู้บริโภค โดยการดำเนินงาน การออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ทำได้โดย เริ่มจากการวัดขนาดผลิตภัณฑ์ การจัดทำหุ่นจำลองเพื่อทดสอบโครงสร้าง (model study) จากแบบร่าง (idea sketch) ที่คัดเลือกไว้ การพัฒนาต้นแบบ (prototype development) สร้างแบบภาพคลี่ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์กราฟิก ตามลำดับ ดังนั้นถ้าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้อง น่าสนใจ และทำให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเฉพาะตัวและโดดเด่น จะทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและนำพาสินค้าสู่ผู้บริโภค อุปโภคได้ง่าย และยั่งยืนมากขึ้น

4. ลักษณะเด่นของผลงานวิจัย
    ชุดโครงการการสร้างมูลค่าเพิ่มจากดอกอัญชันประกอบด้วย 3 โครงการย่อย ได้แก่
    4.1 การพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์จากดอกอัญชัน เป็นการการเตรียมสารสกัดจากดอกอัญชัน เป็นนวัตกรรมการสกัดรูปแบบใหม่ที่ใช้พืชสดในการสกัด ไม่ต้องตากแห้งหรืออบแห้ง ใช้น้ำผึ้งเป็นน้ำกระสายยา และเป็นกระบวนการสกัดที่ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ไม่ใช้แอลกอฮอล์และตัวทำละลายอินทรีย์ใด ๆ ทั้งในขั้นตอนการสกัดและขึ้นรูปเม็ดผลิตภัณฑ์ (ใช้แป้งจากพืชในการขึ้นรูปเม็ดผลิตภัณฑ์) จากนั้นนำสารสกัดจากดอกอัญชันที่ได้มาวิเคราะห์ฤทธิ์ทางชีวภาพ และนำมาเตรียมตำรับต้นแบบเครื่องสำอางได้แก่ เซรั่มบำรุงผิวรอบดวงตาที่มีสารสกัดจากดอกอัญชันเป็นองค์ประกอบ นอกจากนี้ยังได้นำสารสกัดจากดอกอัญชันนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ประกอบด้วยดอกอัญชัน โกศจุฬาลัมพาจีน กระเทียมโทน ฟ้าทะลายโจร และน้ำผึ้ง จากนั้นทำการทดสอบความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง
    4.2 การศึกษาและพัฒนาการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของสารสกัดแอนโทไซยานินและเครื่องสำอางจากดอกอัญชัน เป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่แสดงอัตลักษณ์ของดอกอัญชัน ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องการนำเสนอ และเน้นความสะดวก ในการใช้ ความสวยงาม สะดุดตาเมื่อวางขาย และเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย
    4.3 ปัจจัยด้านส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากดอกอัญชันของผู้บริโภค ทำให้ทราบปัจจัยด้านส่วนประสมทางการตลาดที่มีผลต่อพฤติกรรมการซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดจากดอกอัญชันในกลุ่มประชากรตัวอย่างบริเวณร้านเสริมสวย ร้านสปา และสถานออกกำลังกายในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

5. การบูรณาการการวิจัย
    5.1 บูรณาการองค์ความรู้ใหม่จากงานวิจัย เพื่อโอกาสในการถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการแก่นักวิจัย นักศึกษา แทรกในบทเรียนวิชาด้านเคมี และเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
    5.2 บูรณาการผลงานวิจัย ร่วมกับการแนะแนวทางโอกาสการส่งเสริมด้านการตลาด

6. การนำไปใช้ประโยชน์
ด้านเศรษฐกิจ
    องค์ความรู้จากงานวิจัยผู้ประกอบการสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางสมุนไพร ตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
ด้านชุมชน
    เป็นการเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนและกลุ่มเกษตรกรพัฒนาการปลูก เพื่อให้สามารถสร้างรายได้จากเพาะปลูกพืชสมุนไพรโดยเฉพาะดอกอัญชันอินทรีย์เพื่อเป็นใช้เป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพ สร้างรายได้แก่ครอบครัว ชุมชน สังคม ให้สามารถพึ่งตนเองได้สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และแผนการพัฒนาประเทศด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน
ด้านนโยบาย/สาธารณะ
    หน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร ได้แนวทางการส่งเสริมเกษตรกรพัฒนาการปลูกดอกอัญชันอินทรีย์อย่างมีคุณภาพ หน่วยงานด้านสาธารณสุข ร่วมพัฒนา แนะนำ ต่อยอด เผยแพร่ประโยชน์ของสารสกัดอัญชันอัดเม็ดในการดูแลสุขภาพร่างกายเบื้องต้น
ด้านวิชาการ
    ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่จากผลการวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อการนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและสมุนไพรไทยจากท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า ทำให้เกิดการสร้างรายได้และสร้างแนวทางเสริมรายได้แก่ครอบครัวและชุมชน
    สามารถบูรณาการกับการเรียนการสอน และบทความวิจัยหรือ เอกสารเผยแพร่

7. หน่วยงานหรือองค์กรที่นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
    7.1 ภาคการเกษตร
    7.2 หน่วยงานสาธารณสุข
    7.3 เอกชน ที่ประกอบกิจการและอุตสาหกรรมในด้านเครื่องสำอาง สารสกัด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผู้สนใจ

8. แหล่งติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
นักวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิติพรรณ ฉิมสุข
หน่วยงานต้นสังกัด สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ 50290
โทรศัพท์ 0 5387 3850
โทรสาร 0 5387 3490-1